ในปัจจุบันมิจฉาชีพออนไลน์ มักมาทุกรูปแบบจนประชาชนตามไม่ทัน ซึ่งมุกใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิดคือมีคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนาวิธีการหลอกรูปแบบใหม่โดยอ้างว่าโทรมาจากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเรียกค่าใช้จ่ายผ่าตัดด่วน
 
  พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 20 สิงหาคม 2566  ถึง 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น รับแจ้งทั้งหมด 3,671 เคส  ความเสียหายกว่า 466 ล้านบาท
 
คดีที่มีอัตราเกิดมากที่สุด 5 อันดับแรก
อันดับ 1 : คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ อยู่ที่ 1,781 เคส ยอดความเสียหาย 21,243,102.05 บาท
อันดับ 2 : คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 378 เคส ยอดความเสียหาย 53,691,234.94 บาท
อันดับ 3 : คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 342 เคส ยอดความเสียหาย 175,573,367.60 บาท
อันดับ 4 : คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 304 เคส ยอดความเสียหาย 13,324,870.00 บาท
อันดับ 5 : คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ 270 เคส ยอดความเสียหาย 44,105,474.53 บาท
 
  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เริ่มได้รับแจ้งพฤติการณ์ใหม่ที่คนร้ายนำมาใช้หลอกลวง ได้แก่ ปลอมเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์แล้วหลอกเหยื่อให้โอนเงินเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหาย พบมุกใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างว่าโทรติดต่อมาจากห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล โดยคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์จะใช้เบอร์มือถือซิมม้าโทรหาเหยื่อ แจ้งว่ามีคนไข้ถูกส่งมาที่ห้องฉุกเฉิน และมีค่าใช้จ่ายต้องชำระสำหรับการผ่าตัดด่วน
 
  แต่เมื่อเหยื่อปฏิเสธว่าไม่รู้จักบุคคลที่ถูกส่งมาห้องฉุกเฉินดังกล่าว คนร้ายยังคงยืนยันว่าคนไข้คนดังกล่าวระบุชื่อเหยื่อเป็นเบอร์ติดต่อ หากคนไข้เป็นอะไรไปเหยื่อต้องรับผิดชอบ เมื่อเหยื่อขอคุยสายกับนายแพทย์เจ้าของคนไข้ คนร้ายจะวางสายไป พยายามโทรกลับแต่ก็มีเสียงแจ้งว่าไม่สามารถติดต่อเลขหมายดังกล่าวได้ ภายหลังเหยื่อได้นำเบอร์มือถือดังกล่าวมาตรวจสอบกับ Application Whoscall พบว่าเป็นเบอร์ที่ถูกรายงานไว้ว่าเป็นเบอร์คนร้าย
 
วิธีป้องกันและข้อสังเกตุ
1. ให้สังเกตความผิดปกติของปลายสาย เช่น ถามชื่อ-นามสกุล จริง การใช้ข้อความอัตโนมัติ การโอนสายให้เจ้าหน้าที่ หากมีการ VIDEO CALL ให้สังเกตความผิดปกติของเสียงและท่าทาง (คนร้ายใช้โปรแกรมปลอมใบหน้า)
?2. หากคนร้ายอ้างเหตุต่างๆ หรือข่มขู่ให้โอนเงิน ให้โทรศัพท์ตรวจสอบหรือโทรสายด่วนหน่วยงานที่มีการแอบอ้าง ก่อนดำเนินการใดๆ
3. หากมีหมายเลขโทรศัพท์ ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในเครื่องโทรหา ไม่ควรรับสายในทันที และให้ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน Whoscall ว่าเป็นเบอร์คนร้ายหรือเป็นเบอร์ที่ถูกรายงานไว้หรือไม่
4. คนร้ายใช้ซิมม้าโทรตามแนวชายแดนที่มีสัญญาณผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่า เป็นการโทรศัพท์จากโรงพยาบาลจริง
5. หมายเลขโทรศัพท์ที่คนร้ายโทรหา ไม่สามารถโทรติดต่อกลับไปได้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิมๆ แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทางเว็บไซต์เตือนภัยออนไลน์ Facebook หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านเว็บไซต์ เท่านั้น
----------------------------------------------------------------------------